บริการหนังสือ

มิถุนายน 7, 2023966 9

ปราสาทหินพนมวัน ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ต. บ้านโพธิ์ อ. เมือง จ. นครราชสีมา สร้างขึ้นแบบเดียวกันกับปราสาทหินพิมาย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-17 ยุครุ่งเรืองของอาณาจักรเขมรโบราณ สภาพเดิมก่อนบูรณะ ตัวปราสาทพังเสียหายอย่างหนัก ซึ่งต่อมากรมศิลปากรได้เข้าบูรณะ พ.ศ. 2532 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2542

พนมวัน แปลว่า ภูเขาลูกเดียว ถ้าเขาสองลูก เราต้องเรียกว่า พนมทู (เขียยยยบบบ)

 

ชื่อ “พนมวัน” น่าสนใจ เพราะพื้นที่โดยรอบไม่มีภูเขาที่พอจะเรียกว่า “พนม” ได้เลย ทีมสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เรียกปราสาทนี้ว่า “Nom Van” ไม่ได้ออกเสียงเป็น “พนม” หวังว่าคงไม่ได้ออกเสียงว่า “หนมหวาน” (หรือ นมหวาน) หรอกนะ ไม่งั้นต้องวิ่งวุ่นหาที่มาชื่อใหม่อีก

 ผศ. ดร. กังวล คัชชิมา กล่าวไว้
(ก) ปราสาทหินพิมาย อ. พิมาย (ข) ปราสาทหินพนมวัน อ. เมือง (ค) แหล่งตัดหินบ้านมอจะบก อ. สีคิ้ว (ง) แหล่งตัดหินบ้านส้มกบงาม อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา

จากการสำรวจทาง ธรณีวิทยาโบราณคดี (Geoarchaeology) ประเด็นที่น่าสนใจของปราสาทหินพนมวัน คือ ตัวปราสาทและองค์ประกอบสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ สร้างจากหินทราย ที่มีความหลากหลายของสีและเนื้อหินอย่างมาก แตกต่างจากประสาทอื่นๆ ทั้งที่พบในประเทศไทยหรือแม้กระทั่งในกัมพูชา ซึ่งจากความหลากหลายของชนิดหิน และความแอบจะดูไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในการจัดเรียงหิน ทำให้มีการตีความถึงบรรยากาศการสร้างพนมวันในวันนั้น ไปในหลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็น 1) พนมวันคือศาสนสถานที่ยังสร้างไม่เสร็จ 2) พนมวันเร่งรีบในการสร้าง 3) พนมวันอัตคัดหิน (อยู่ไกลจากแหล่งตัดหิน) หรือ 4) พนมวันมีเจตนาที่จะนำเสนอสุนทรียารมณ์ในการสร้างปราสาทให้มีความคัลเลอร์ฟูล สดใสในสไตล์ LGBTQ+


ความหลากหลายและความแอบจะดูไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในการจัดเรียงหินของ ปราสาทหินพนมวัน

นี่จึงนำมาสู่การเขียนบทความเรื่องนี้ เพื่อตีแผ่อีกหนึ่งประเด็นทางเลือกในมุมธรณีวิทยา ของปราสาทหินพนมวัน เพื่อประโยชน์ในการกระชับ ที่ไปที่มาของหินหรือวัสดุก่อสร้างที่ใช้ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อ่านนึกภาพตามและเห็นบรรยากาศของการผลิตหิน การขนถ่ายหิน และการก่อสร้างปราสาทในวันนั้น ชัดเจนยิ่งขึ้น

1) ภูมิศาสตร์

ในทางภูมิศาสตร์ ปราสาทหินพนมวัน รวมทั้ง ปราสาทหินพิมาย อยู่ในขอบเขตการปกครองของ จ . นครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ภายในแอ่งกระทะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของ ที่ราบสูงโคราช (Korat Plateau) หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน ของไทย โดยในมิติ ภูมิลักษณ์ (landform) ปราสาททั้งสองหลังตั้งอยู่ในส่วนของ ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ของ ลุ่มน้ำมูล (ตอนบน หรือ ต้นน้ำมูล) ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสายหลักในแถบอีสานใต้ โดยมีลำน้ำสาขา 5 สาย เลื้อยไหลร้อยเรียงกันอยู่ในละแวกนี้ ได้แก่ 1) ลำเชียงไกร 2) ลำตะคลอง 3) ลำพระเพลิง 4) ลำแซะ และ 5) ลำจักรราช ที่สุดท้ายล้วนก็ไปบรรจบรวมกันที่แม่น้ำมูล (ดูรูปประกอบ)

 

ห่างออกไปทางตะวันตกประมาณ 70 – 80 กิโลเมตร จากปราสาทหินพนมวัน ที่นั่นคือ แนวเทือกเขาดงพญาเย็น หรือขอบแอ่งกระทะของที่ราบสูงโคราช ขอบเขตทางธรรมชาติที่แบ่งดินแดนอีสานออกจากที่ราบภาคกลาง ในทางภูมิศาสตร์


แผนที่ภูมิประเทศ จ. นครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียง แสดงการกระจายตัวของปราสาทเขมรโบราณ ที่สร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 15-18 จำนวน 9 แห่ง (สามเหลี่ยมแดง) ได้แก่ ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมวัน ปราสาทบ้านบุใหญ่ ปราสาทเมืองเก่า ปราสาทเมืองแขกฯลฯ ส่วน วงกลมเหลือง คือ ตำแหน่งปราสาทขนาดเล็กและโอสถศาลา ที่มีการรายงานไว้จากงานวิจัยในอดีต และ สี่เหลี่ยมขาว คือ ตำแหน่งแหล่งตัดหินโบราณ ที่มีการสำรวจพบในปัจจุบัน ได้แก่ แหล่งตัดหินบ้านมอจะบก แหล่งตัดหินบ้านส้มบงาม แหล่งตัดหินวัดป่าเขาหินตัด ใน อ. สีคิ้ว และ แหล่งตัดหินวัดโบสถ์ริมบึง อ. ปักธงชัย

2) แหล่งหิน

ในมิติธรณีวิทยา นอกเหนือจาก ตะกอนทางน้ำ (fluvial sediment) ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) ที่สะสมตัวอยู่ตามลำห้วยหรือธารน้ำต่างๆ หินที่โผล่ส่วนใหญ่ของภาคอีสานเป็นหินที่เกิดขึ้นในช่วง มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนบกและกลายเป็นชุดของ หินตะกอน (sedimentary rock) ที่เรียกกันในทางธรณีวิทยาว่า กลุ่มหินโคราช (Khorat Group) ซึ่งถ้าแบ่งย่อยกลุ่มหินโคราชอย่างเต็มรูปแบบ จะประกอบไปด้วย 9 หมวดหิน (formation) ไล่จากแก่ไปอ่อน ได้แก่ หมวดหิน 1) ห้วยหินลาด 2) น้ำพอง 3) ภูกระดึง 4) พระวิหาร 5) เสาขัว 6) ภูพาน 7) โคกกรวด 8) มหาสารคาม และ 9) ภูทอก ตามลำดับ ซึ่งแทบทุกหมวดหิน ส่วนใหญ่จะเป็น หินทราย (sandstone) หินทรายแป้ง (siltstone) และ หินดินดาน (shale) ยกเว้น 8) หมวดหินมหาสารคาม (Maha Sarakham Formaion) ที่ประกอบไปด้วย หินดินดาน และ ชั้นเกลือหิน (rock salt)


ตัวอย่าง หินทราย

ตัวอย่าง หินทรายแป้ง

เพิ่มเติม : หินตะกอนเนื้อเม็ด

 

เพิ่มเติม : กลุ่มหินโคราช (Khorat Group)

 

ในเวลาต่อมา กระบวนการทาง ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) บีบอัดและยกตัวกลุ่มหินโคราชเหล่านี้ จนกลายเป็นเหมือนขอบแอ่งกระทะ ตลอดแนวตะวันตกและใต้ของที่ราบสูงภาคอีสาน ขอบแอ่งกระทะทางตอนใต้ คือ เทือกเขาพนมดงรัก ส่วนขอบแอ่งกระทะทางตะวันตก คือ เทือกเขาดงพยาเย็น โดยในแง่ของ การลำดับชั้นหิน (stratigraphy) หินบนเทือกเขาดงพยาเย็น รวมทั้งเขาทุกลูกที่ไล่ยาวมาทางทิศตะวันออก ในเขต จ. ชัยภูมิ และ จ. นครราชสีมา จะมีการเอียงเทของชั้นหินไปในทางทิศตะวันออก ดังนั้นหากไล่ลำดับชั้นหินตะกอนจากฝั่งตะวันตกไปทางทิศตะวันออกของพื้นที่ ชั้นตะกอนอายุแก่กว่าจะอยู่ทางตะวันตก และไล่อายุอ่อนขึ้นไปทางตะวันออก


(บน) ภูมิประเทศ 3 มิติ พื้นที่รอยต่อขอบที่ราบสูงโคราช แสดงการกระจายตัวของเขาสำคัญต่างๆ ซึ่งมีโอกาสเป็นแหล่งหินในการนำไปก่อสร้างปราสาทหินพนมวันและปราสาทหินพิมาย (ล่าง) ภาพตัดขวางการวางตัวของชั้นหินในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ไล่จากซ้าย – เทือกขายเที่ยง ไปจนถึง ขวา – ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล (ที่มา : www.khoratcuesta.net)

ซึ่งหากไล่ตั้งแต่ตีนเขาแถวเขื่อนลำตะคลอง ก่อนขึ้นสู่ที่ราบสูงโคราช กลุ่มหินโคราช (Khorat Group) ที่เริ่มโผล่ให้เห็นในพื้นที่ ไล่จากตะวันตกไปตะวันออก จะประกอบไปด้วยหมวดหิน 4) พระวิหาร 5) เสาขัว 6) ภูพาน 7) โคกกรวด และ 8) มหาสารคาม ตามลำดับ ซึ่งมีรายละเอียดของหินในแต่ละหมวด ดังนี้

  • หมวดหินพระวิหาร (Phra Wihan Formation) หินทรายสีขาว ขาวอมเหลือง เนื้อปานกลาง-หยาบ หินดินดาน หนา 100-250 เมตร
  • หมวดหินเสาขัว (Sao Khua Formation) หินดินดาน หินทรายแป้งสีน้ำตาลแดง หินทรายเนื้อละเอียดสีน้ำตาลแดง หนา 200-760 เมตร
  • หมวดหินภูพาน (Phu Phan Formation) หินทรายขนาดปานกลาง หินทรายปนกรวด หนา 80-140 เมตร
  • หมวดหินโคกกรวด (Khok Kruat Formation) หินทรายแป้ง หินดินดานสีแดง หินทรายสีน้ำตาลแดง หนา 430-700 เมตร
  • หมวดหินมหาสารคาม (Maha Sarakham Formation) หินดินดาน ชั้นเกลือหิน หนา 610-1,000 เมตร

แผนที่ธรณีวิทยา แสดงการกระจายตัวของหินหมวดต่างๆ ในพื้นที่

หากย้อนกลับไปดูหินทรายหลากหลายสีที่พนมวันอีกที จะพบว่ามี 1) หินทรายสีขาว สีขาวอมเหลือง 2) หินทรายเนื้อหยาบสีชมพู และ 3) หินทรายถึงหินทรายแป้งสีชมพูเข้มอมม่วง ซึ่งจากการแปลความทางธรณีวิทยาจากตัวอย่างที่เห็นด้วยตาในเบื้องต้นประเมินได้ ดังนี้

  • หินทรายสีขาว สีขาวอมเหลือง > หมวดหินพระวิหาร
  • หินทรายเนื้อหยาบสีชมพู > หมวดหินภูพาน
  • หินทรายถึงหินทรายแป้งสีชมพูเข้มอมม่วง > หมวดหินโคกกรวด ป.ล. หรืออาจเป็น หมวดหินพระวิหาร ชั้นย่อยที่อยู่บนชั้นหินทรายสีขาวอมเหลือง (เดี๋ยวมีโอกาส ขอไปเช็คบนเขาพังเหยอีกที)

ความหลากหลายและความแอบจะดูไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในการจัดเรียงหินของ ปราสาทหินพนมวัน

แล้วมีอะไรน่าสนใจบ้าง จากการที่รู้ว่าหินที่นำมาใช้สร้างปราสาทพนมวัน มาจากหลากที่หลายถิ่น และหลากหลายหมวดหินในทางธรณีวิทยา

 

ความจริงข้อแรกคือ มีหินเพียงบางส่วน ที่นำมาจากหมวดหินภูพาน เหมือนกับหินส่วนใหญ่ที่ใช้สร้างปราสาทหินพิมายและปราสาทพนมรุ้ง ทั้งนี้ก็น่าจะเพราะหมวดหินภูพาน ในแถบเทือกเขาดงพญาเย็น จะกระจายตัวในพื้นที่แคบๆ ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเทือกเขาพนมดงรัก ทางตอนใต้ของอีสาน

 

ประเด็นถัดมา กับการเลือกใช้หินทรายถึงหินทรายแป้งสีชมพูเข้มอมม่วง (หมวดหินโคกกรวด) มาสร้างปราสาทพนมวัน ด้วยคุณสมบัติที่ผุพังได้ง่าย จะเห็นได้ว่าสภาพในปัจจุบัน หินทรายอมม่วงที่พบพนมวันผุพังไปอย่างมาก ซึ่งถ้ามองอย่างเข้าอกเข้าใจคนโบราณ ก็แปลความกันว่าในวันนั้น พวกเขาคงอาจจะไม่รู้ ว่าหินพวกนี้ไม่คงทนพอที่จะสร้างประสาท แต่ถ้าหากเป็นความจงใจ ผุง่ายแล้วไง แบบไหนก็จะเอา ถ้าคนเลือกหินเป็นฟิวนี้ นั่นหมายความว่า วันนั้นมีกิริยา ความพยายามหาหินใกล้มือ เพราะแค่คิดจะมาตัดและหินที่ แหล่งตัดหินบ้านส้มกบงาม (หมวดหินโคกกรวด) ก็ต้องเดินทางไกลถึง 40-45 กิโลเมตร หรือถ้าจะมาใช้บริการหินใน หมวดหินภูพาน (แหล่งตัดหินบ้านมอจะบกและวัดป่าเขาหินตัด) ต้องเดินทาง 50-55 กิโลเมตร

 

แต่ก็ยังมีประเด็นย้อนแย้งที่น่าสนใจคือ ดูเหมือนจะเหนื่อยล้ากับการเดินทางมาขนหิน แต่กลับมีการเดินทางไกลกว่า 70- 80 กิโลเมตร ลงมาจากที่ราบสูงโคราช เพื่อที่จะมาเอา หินทรายสีขาวอมเหลือง (หมวดหินพระวิหาร) บริเวณตีนเขายายเที่ยง เพื่อไปสร้างปราสาทหินพนมวัน นั่นหมายความว่า ในการสร้างปราสาทหินพนมวัน กว่าจะได้หินดีๆ ซักก้อน ต้องอาศัยความพยายามอย่างมาก ในการขนย้ายหินมา

ปราสาทหินพนมรุ้ง จ. บุรีรัมย์ เดินทางไปนำหินที่ แหล่งตัดหินบ้านสายตรี 3 อ. บ้านกรวด ใช้ระยะทางเพียง 25 กิโลเมตร หรือ แหล่งตัดหินวัดภูหินตัด อ.โนนดินแดง ใช้ระยะทางแค่ 30 กิโลเมตร

3) เส้นทางขนหิน

จากสภาพทางภูมิศาสตร์ และการกระจายตัวของหินในทางธรณีวิทยา ในพื้นที่โดยรอบปราสาทหินพนมวันและปราสาทหินพิมาย เพื่อที่จะประเมินแนวเส้นทางที่เป็นไปได้ในการขนหินจากแหล่งผลิตมาสู่ตัวปราสาท ผู้วิจัยได้ใช้ ข้อมูลภูมิประเทศ 3 มิติ ((Digital Elevation Model, DEM) ผนวกกับเทคนิคการวิเคราะห์ทาง ภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System, GIS) เพื่อคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสม สะดวกสบายในการเดินทาง จากทั้งแหล่งตัดหินที่มีการสำรวจพบแล้ว (แหล่งตัดหินบ้านมอจะบก บ้านส้มบงาม วัดป่าเขาหินตัด และวัดโบสถ์ริมบึง) รวมทั้งการกระจายตัวของหินหมวดต่างๆ ในพื้นที่ เผื่อวิ่งเข้าสู่ปราสาทหินพนมวันและปราสาทหินพิมาย ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าเส้นทางที่เหมาะสมในการขนถ่ายหินเกือบทั้งหมด ลัดเลาะล้อไปกับลำน้ำสายต่างๆ ในพื้นที่ ทั้ง 1) ลำเชียงไกร 2) ลำตะคลอง 3) ลำพระเพลิง 4) ลำแซะ และ 5) ลำจักรราช

 

นี่จึงเป็นหลักฐานสนับสนุนอย่างดีว่า การขนย้ายหินมาสร้างปราสาทพนมวันรวมทั้งปราสาทหินพิมาย มีความเป็นไปได้สูงที่จะมาทางน้ำ แบบเอาไม้ไผ่ต่อเป็นแพ ยกหินขึ้นแพ แล้วมีชายฉกรรจ์นุ่งผ้าเตี่ยว คอยคัดท้ายถ่อแพ ลัดเลาะไปตามร่องน้ำ สมใจภาพจำของผู้อ่านหลายๆ ท่าน ที่เคยอ่านหนังสือหรือดูการ์ตูนการสร้างพีระมิดในอียิปต์


ผลการวิเคราะห์เส้นทางคุ้มทุนในการขนย้ายหินจากหมวดหินต่างๆ ในทางธรณีวิทยา มาสู่ปราสาทพนมวันและปราสาทหินพิมาย

แต่ก็นะจากใจจิง ผู้เขียนก็ยังคงไม่ลงใจ ว่าการขนย้ายหินเข้าพิมายหรือพนมวันจะต้องไปกันทางน้ำ เพราะถึงแม้ในภาพภูมิศาสตร์ เส้นทางการขนย้ายหินส่วนใหญ่จะซ้อนทับกับแนวลำน้ำในพื้นที่ แต่ถ้าลองซูมอินเข้าไปดูร่องน้ำกันดีๆ จะพบว่าลำน้ำแถวนี้เป็น คลองไส้ไก่ ที่มีร่องน้ำเล็ก (กว้าง 10-20 เมตร) และคดเคี้ยวขั้นสุด ของสุด ชนิดที่ว่าผู้เขียนก็แอบสงสาร เหล่าผู้ชายพายแพในวันนั้น ที่ต้องคัดท้ายแพให้เลี้ยวซ้ายที-ขวาทีตลอดทั้งวัน ตลอดเส้นทาง เพราะถ้าใจลอยคัดท้ายแพไม่ดี ก็คงต้องมีการ ดริฟต์แพ หัวหมุนติ้ว ติ้ว ติ้ว กันเป็นแน่

 

ขึ้นเกวียนขึ้นแพบก ให้วัวให้ช้างลาก เลาะขนาบไปตามริมลำน้ำ พอจะได้มั๊ย พอไหวมั๊ย 

 

ไหว้ย่อ !!! ถือว่าผู้เขียน ขอกันดีๆ


สภาพลำคลองที่แคบและคดเคี้ยวของลำตะคลอง ซึ่งแปลความว่า เป็นไปได้ยากที่จะขนหินมาทางลำน้ำ

**********************

ที่มา : http://www.mitrearth.org/24-46-phanomwan/

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.

ยอมรับ รายละเอียด
© PCSHS E-LIBRARY. All Right reserved Powered by Bookdose | Version 1.0.5-63284db9