บริการหนังสือ

มิถุนายน 7, 20232,236 8

ในมิติ ภูมิศาสตร์ (geography) หรือภูมิประเทศ ภาคเหนือของไทยประกอบไปด้วยหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา น่าน ฯลฯ ซึ่งโดยภาพรวม พื้นที่หรืออาณาเขตของแต่ละจังหวัดจะถูกคั่นด้วยแนวเทือกเขา อย่างเทือกเขาขุนตาล ผีปันน้ำ จอมทอง แดนลาว หลวงพระบาง และเทือกเขาถนนธงชัย โดยมีแม่น้ำสายสำคัญ 4 สาย ไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม และแม่น้ำน่าน ตามลำดับ

แบบจำลองความสูงเชิงตัวเลข (Digital Elevation Model; DEM) แสดงภูมิประเทศของภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของไทย

จะเห็นได้ว่า หากเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ อย่างภาคอีสาน กลาง หรือไม่ก็ทางภาคใต้ ภูมิประเทศภาคเหนือ ก็จะแตกต่าง มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่งผลต่อธรรมชาติการแบ่งการปกครองรายจังหวัด และการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ของคนในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากแต่ละจังหวัดแอบถูกแบ่งออกเป็นแอ่งๆ อย่างที่บอกไปในข้างต้น ดังนั้น เพื่อที่จะอธิบายที่มาที่ไปของภูมิประเทศในแถบนี้ บทความนี้ตั้งใจที่จะอธิบายกระบวนการทางธรณีวิทยา ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภูมิประเทศอย่างที่เห็นในภาคเหนือ

กระบวนการเกิดภูเขา

ในทางธรณีวิทยา หากจะคุยกันเรื่อง กระบวนการเกิดภูเขา (orogeny) ภูเขาก่อตัวได้หลายแบบ เช่น ภูเขาไฟ ภูเขาที่เกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลก และหนึ่งในหลายหลายลีลาของการเกิดภูเขานั้น ก็คือ ภูเขารอยเลื่อน (fault-block mountain) ซึ่งเป็นภูเขาที่เกิดจากแรงดึงทางธรณีแปรสัณฐาน ทำให้พื้นทวีปถูกยืดออกจากกันและแตกเป็นท่อนๆ และมีการยุบตัวลงอย่างเป็นระบบ เกิด ภูมิลักษณ์ (landfirm) ทางธรณีวิทยาแบบ ร่องขนาบรอยเลื่อน (graben) และ เขาขนาบรอยเลื่อน (horst) กลายเป็น แอ่งที่ราบ (basin) และเทือกเขาสลับกันไป


กระบวนการเกิดภูเขารอยเลื่อน

เพิ่มเติม : 6 ลีลาโลก กับการสร้างภูเขา

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในต่างประเทศ ของการเกิดภูเขาที่มีรอยเลื่อนเป็นตัวควบคุมคือบริเวณที่เรียกว่า พื้นที่แอ่งราบและเขาสูง (basin and range) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในรัฐไอดาโฮ โอเรกอน เนวาดา ยูทา คาลิฟอร์เนีย แอริโซนา และรัฐนิวเม็กซิโก โดยพื้นที่ดังกล่าว เกิดจากการที่มี แรงทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic force) ดึงแผ่นทวีปออกจากกันในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทำให้พื้นที่ในละแวกนั้นถูกยืดออก แตกเป็นท่อนๆ และยุบตัวลงอย่างเป็นระบบ กลายเป็น ร่องขนาบรอยเลื่อน (graben) เขาขนาบรอยเลื่อน (horst) ตรงตามทฤษฎีที่เล่ามา โดยมีรอยเลื่อนแผ่นดินไหวบริเวณขอบแอ่ง เป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมการเปิดแอ่งตะกอน ซึ่ง พื้นที่แอ่งราบและเขาสูง (basin and range) ในประเทศสหรัฐอเมริกานี้ ถือเป็นภูเขาจากรอยเลื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก


แบบจำลองแสดงการเกิด พื้นที่แอ่งราบและเขาสูง (basin and range) ในประเทศสหรัฐอเมริกา

(ซ้าย) แบบจำลองความสูงเชิงตัวเลข (Digital Elevation Model; DEM) แสดงภูมิประเทศของพื้นที่แอ่งราบและเขาสูง ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และ (ขวา) ภาพมุมสูงถ่ายจากสถานที่จริงในพื้นที่ดังกล่าว

ธรณีแปรสัณฐานของไทย

จากการตรวจวัดและวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกด้วยเครื่อง GPS ความละเอียดสูง มีรายงานว่าปัจจุบัน แผ่นเปลือกโลกอินเดียกำลังเคลื่อนที่ขึ้นเหนือเฉียงไปทางตะวันออกนิดๆ และกำลังชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ด้วยอัตราการเคลื่อนตัว 54 มิลลิเมตรต่อปี ผลจากการชนกันดังกล่าวในปัจจุบัน ทำให้เกิดผลทางธรณีแปรสัณฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้อย่างมากมาย เช่น


(ซ้าย) ทิศทางการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย ที่กำลังวิ่งเข้าชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิด แนวเทือกเขาหิมาลัย (Himalaya Mountain) ที่ราบสูงทิเบต (Tibet Plateau) ตลอดจนเป็นสาเหตุทำให้รอยเลื่อนต่างๆ ที่อยู่ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงรอยเลื่อนที่อยู่ในประเทศไทย เกิดการเลื่อนตัวอยู่ทุกวันนี้ (ขวา) แบบจำลองการบิออกและขยาย ผายพื้นที่ของแผ่นดินไทยและพื้นที่ข้างเคียง อันเป็นผลเนื่องมาจากแผ่นอินเดียวิ่งชนยูเรเซีย
แขนวงเวียนด้านซ้าย คือ ด้ามขวานทองของไทย (ภาคเหนือฝั่งตะวันตก ภาคตะวันตก และภาคใต้ของไทย) ส่วน แขนวงเวียนด้านขวา คือ พื้นที่ภาคอีสาน ภาคตะวันออกและกัมพูชา
จากภาพ 1) อ่าวไทยขยายเปิดก่อน ตามด้วย 2) ที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย และ 3) ภาคเหนือ ตามลำดับ

เพิ่มเติม : แผ่นดินไทยมาจากไหน ? : นิทาน . ธรณีแปรสัณฐาน . ประเทศไทย

  • เกิดการยกตัวของ เทือกเขาหิมาลัย สูงขึ้นทุกๆ ปี ปีละ 4-5 มิลลิเมตร และเกิด ที่ราบสูงทิเบต อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
  • เกิด เขตมุดตัวสุมาตราอันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) และเกิดแผ่นดินไหวขนาดต่างๆ แทบทุกวัน ตลอดแนวเขตมุดตัว ซึ่งเขตมุดตัวดังกล่าวเคยเกิดสึนามิในปี พ.ศ. 2547 และมีโอกาสเกิดอีกในอนาคต กับพื้นที่อื่นๆ บนเขตมุดตัว
  • พื้นที่ตรงกลางของไทยเปิดออกในแนว เหนือ-ใต้ (ด้ามขวานแยกออกจากมบขวาน) โดยพื้นที่ข้างล่างเปิดก่อนพื้นที่ด้านบน อ่าวไทย > ภาคกลาง > ภาคเหนือ ตามลำดับ
  • อ่าวไทย ถูกดึงยืดออกในแนวตะวันออก-ตะวันตก และเปิดอ่าวไทยกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปิโตรเลียมและถ่านหิน ส่วนใหญ่ของไทย ก็ค่อยๆ สะสมกันในช่วงนี้
  • ภาคกลางของไทยก็เปิด ตะกอนจากแม่น้ำเข้ามาถมกลายเป็นที่ราบลุ่มต่ำ เป็นแหล่งสะสมตะกอนของกระบวนการทางน้ำที่ไหลลงมาจากภาคเหนือ
  • ภาคเหนือของไทย ทรุดเป็นแอ่งๆ กลายเป็นที่ราบสลับทิวเขา ซึ่งในทางธรณีวิทยา เราแบ่งแอ่งที่ราบต่างๆ ตั้งตามชื่อจังหวัด เช่น แอ่งเชียงใหม่ ลำปาง และก็มีแอ่งยิบแอ่งย่อยอีกมากมาย เช่น เชียม่วน แอ่งลี้ เป็นต้น


แบบจำลองความสูงเชิงตัวเลข (Digital Elevation Model; DEM) แสดงภูมิประเทศของภาคเหนือและภาคกลางของไทย แสดงรูปเรียกชื่อแนวเทือกเขา เอาแผนที่เทือกเขามาใส่ดีมั้ย

ดังนั้น ภาคเหนือจึงเป็น ที่ราบหลุมๆ สลับหุบเขา อ่าวไทย ก็เหมือนภาคเหนือ แค่มีตะกอนและน้ำทะเลปิดอยู่ ภาคกลาง ก็เหมือนภาคเหนือ แค่มีตะกอนปิดทับอยู่ ซึ่งถ้าจะให้เปรียบภาคเหนือ กับภาชนะซักใบ ก็คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก . . .



ถาดหลุม (ที่มา : http://www.mitrearth.org/3-17-geography-northern-thailand/ )

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.

ยอมรับ รายละเอียด
© PCSHS E-LIBRARY. All Right reserved Powered by Bookdose | Version 1.0.5-63284db9